วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

ระบบสุริยะจักรวาล




 ดวงอาทิตย์

ดวงอาทิตย์ คือดาวฤกษ์ดวงแม่ที่เป็นหัวใจของระบบสุริยะ มีขนาดประมาณ 332,830 เท่าของมวลของโลก ด้วยปริมาณมวลที่มีอยู่มหาศาลทำให้ดวงอาทิตย์มีความหนาแน่นภายในที่สูงมากพอจะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันอย่างต่อเนื่อง และปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมา โดยมากเป็นพลังงานที่แผ่ออกไปในลักษณะของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น แสง
ดวงอาทิตย์จัดว่าเป็นดาวแคระเหลืองขนาดใหญ่ปานกลาง ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับดาวฤกษ์อื่น ๆ ที่อยู่ในดาราจักรของเรา ถือได้ว่าดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่และสว่างมากการจัดประเภทของดาวฤกษ์นี้เป็นไปตามไดอะแกรมของเฮิร์ตสปรัง-รัสเซลล์ ซึ่งเป็นแผนภูมิของกราฟระหว่างความสว่างของดาวฤกษ์เทียบกับอุณหภูมิพื้นผิว โดยทั่วไปดาวฤกษ์ที่มีอุณหภูมิสูงกว่ามักจะสว่างกว่า ซึ่งดาวฤกษ์ใด ๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นไปดังที่ว่ามานี้ก็จะเรียกว่าเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ในแถบลำดับหลัก ดวงอาทิตย์ของเราก็อยู่บนแถบลำดับหลักโดยอยู่ในช่วงกึ่งกลางทางด้านขวา แต่มีดาวฤกษ์จำนวนไม่มากนักที่จะสว่างกว่าและมีอุณหภูมิสูงกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ส่วนมากจะอ่อนแสงกว่าและมีอุณหภูมิต่ำกว่าทั้งนั้น
เชื่อว่าตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนแถบลำดับหลักนั้นจัดได้ว่าอยู่ใน "ช่วงรุ่งโรจน์ของยุค" ของอายุดาวฤกษ์ มันยังมีไฮโดรเจนมากเพียงพอที่จะสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันไปอีกนาน ดวงอาทิตย์กำลังเพิ่มพูนความสว่างมากขึ้น ในอดีตดวงอาทิตย์เคยมีความสว่างเพียงแค่ 70% ของความสว่างอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ดวงอาทิตย์จัดเป็นดาวฤกษ์ชนิดดารากร 1 ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลาย ๆ ของวิวัฒนาการของเอกภพ มีองค์ประกอบธาตุหนักที่หนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียม (ในภาษาดาราศาสตร์จะเรียกว่า "โลหะ") มากกว่าดาวฤกษ์ชนิดดารากร 2 ซึ่งมีอายุมากกว่า ธาตุหนักเหล่านี้ก่อกำเนิดขึ้นจากแก่นกลางของดาวฤกษ์โบราณที่ระเบิดออก ดังนั้นดาวฤกษ์ในยุคแรกเริ่มจึงต้องแตกดับไปเสียก่อนจึงจะทำให้เอกภพเต็มไปด้วยอะตอมธาตุเหล่านี้ได้ ดาวฤกษ์ที่มีอายุเก่าแก่มาก ๆ จะไม่ค่อยมีองค์ประกอบโลหะมากนัก ขณะที่ดาวฤกษ์ที่เกิดในยุคหลังจะมีโลหะมากกว่า สันนิษฐานว่า การมีองค์ประกอบโลหะจำนวนมากนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดวงอาทิตย์สามารถสร้างระบบดาวเคราะห์ของตัวเองขึ้นมาได้ เพราะดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นมาจากการรวมตัวกันของธาตุหนักเหล่านั้น
ระบบสุริยะชั้นใน





ระบบสุริยะชั้นใน เป็นชื่อดั้งเดิมของย่านอวกาศที่ประกอบด้วยกลุ่มดาวเคราะห์ใกล้โลกและแถบดาวเคราะห์น้อย มีส่วนประกอบหลักเป็นซิลิเกตกับโลหะ เทหวัตถุในระบบสุริยะชั้นในจะเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกันและใกล้กับดวงอาทิตย์มาก รัศมีของย่านระบบสุริยะชั้นในนี้ยังสั้นกว่าระยะห่างจากดาวพฤหัสบดีไปดาวเสาร์เสียอีก
ดาวเคราพห์ชั้นใน
ดาวเคราะห์ชั้นในหรือดาวเคราะห์ใกล้โลก มี 4 ดวง โดยมากประกอบด้วยส่วนประกอบหิน มีความหนาแน่นสูง มีดวงจันทร์น้อยหรืออาจไม่มีเลย และไม่มีระบบวงแหวนรอบตัวเอง สสารที่เป็นองค์ประกอบมักเป็นแร่ธาตุที่มีจุดหลอมเหลวสูง เช่นซิลิเกตที่ชั้นเปลือกและผิว หรือโลหะ เหล็ก นิเกิล ที่เป็นแกนกลางของดาว สามในสี่ของดาวเคราะห์กลุ่มนี้ (ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร) มีชั้นบรรยากาศที่เห็นได้ชัด พื้นผิวมีร่องรอยของหลุมบ่อที่เกิดจากการปะทะโดยชิ้นส่วนจากอวกาศ และมีความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่พื้นผิวด้วยเช่น การแยกตัวของร่องหุบเขาและภูเขาไฟ
ดาวพุธ
ดาวพุธ (0.4 AU) คือดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กที่สุด (0.055 เท่าของมวลโลก) ดาวพุธไม่มีดาวบริวารของตัวเอง สภาพพื้นผิวที่มีนอกเหนือจากหลุมบ่อจากการปะทะ ก็จะเป็นสันเขาสูงชัน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงยุคการก่อตัวในช่วงเริ่มแรกของประวัติศาสตร์ ชั้นบรรยากาศของดาวพุธเบาบางมากจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีบรรยากาศ ประกอบด้วยอะตอมที่ถูกลมสุริยะพัดพาขับไล่ไปจนเกือบหมดแกนกลางของดาวเป็นเหล็กที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่มาก ต่อมาเป็นชั้นเปลือกบาง ๆ ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน ทฤษฎีเกี่ยวกับชั้นเปลือกของดาวจำนวนหนึ่งอธิบายถึงชั้นผิวรอบนอกที่ถูกฉีกออกด้วยการปะทะครั้งใหญ่ บ้างก็ว่ามันถูกกีดกันจากการพอกรวมของชั้นผิวเนื่องจากพลังงานมหาศาลของดวงอาทิตย์อันเยาว์
ดาวศุกร์
ดาวศุกร์ (0.7 AU) มีขนาดใกล้เคียงกับโลก (0.815 เท่าของมวลโลก) และมีลักษณะคล้ายโลกมาก มีชั้นเปลือกซิลิเกตอย่างหนาปกคลุมรอบแกนกลางของดาวซึ่งเป็นเหล็ก มีชั้นบรรยากาศ และมีหลักฐานแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาภายในของดาว ทว่าดาวศุกร์แห้งแล้งกว่าโลกมาก ชั้นบรรยากาศของมันก็หนาแน่นกว่าโลกถึงกว่า 90 เท่า ดาวศุกร์ไม่มีดาวบริวารของตัวเอง กล่าวได้ว่า ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนที่สุด ด้วยอุณหภูมิพื้นผิวสูงถึงกว่า 400 °C ซึ่งเป็นผลจากปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในชั้นบรรยากาศ ในปัจจุบันไม่มีการตรวจพบการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาใหม่ ๆ บนดาวศุกร์อีกแล้ว แต่ดาวศุกร์ไม่มีสนามแม่เหล็กของตัวเองที่จะช่วยป้องกันการสูญเสียชั้นบรรยากาศ ดังนั้นการที่ดาวศุกร์ยังรักษาชั้นบรรยากาศของตัวเองไว้ได้จึงคาดว่าน่าจะเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ
โลก
โลก (1 AU) เป็นดาวเคราะห์ที่ค่อนข้างใหญ่และมีความหนาแน่นมากที่สุดในกลุ่มดาวเคราะห์ชั้นใน เป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่พบว่ายังมีปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาอยู่ และเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวเท่าที่ทราบว่ามีสิ่งมีชีวิต โลกเป็นดาวเคราะห์ที่มีน้ำมาก เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากกลุ่มดาวเคราะห์ใกล้โลกทั้งหมด และยังเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกอยู่ ชั้นบรรยากาศของโลกค่อนข้างจะแตกต่างกับดาวเคราะห์ดวงอื่น เนื่องจากการที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในบรรยากาศจึงมีออกซิเจนอิสระอยู่ถึง 21% โลกมีดาวเคราะห์บริวารหนึ่งดวง คือ ดวงจันทร์ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์บริวารขนาดใหญ่เพียงดวงเดียวในเขตระบบสุริยะชั้นใน
ดาวอังคาร
ดาวอังคาร (1.5 AU) มีขนาดเล็กกว่าโลกและดาวศุกร์ (0.107 เท่าของมวลโลก) มีชั้นบรรยากาศเจือจางที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ พื้นผิวของดาวอังคารระเกะระกะด้วยภูเขาไฟจำนวนมาก เช่น ภูเขาไฟโอลิมปัส และหุบเขาลึกชันมากมายเช่น Valles Marineris แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ สีของดาวอังคารที่เราเห็นเป็นสีแดง เป็นเพราะสนิมที่มีอยู่ในพื้นดินอันเต็มไปด้วยเหล็ก ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กสองดวง (คือ ไดมอส กับ โฟบอส) ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อยที่บังเอิญถูกแรงดึงดูดของดาวอังคารจับตัวเอาไว้
แถบดาวเคราะห์น้อย
ดาวเคราะห์น้อย คือวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะที่ประกอบด้วยหินและธาตุโลหะที่ไม่ระเหย
        แถบดาวเคราะห์น้อยหลักกินพื้นที่วงโคจรที่อยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ประมาณ 2.3 ถึง 3.3 หน่วยดาราศาสตร์จากดวงอาทิตย์ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเศษชิ้นส่วนจากการก่อตัวของระบบสุริยะในช่วงแรกที่ก่อตัวไม่สำเร็จเนื่องจากแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวพฤหัสบดี
     ดาวเคราะห์น้อยมีขนาดต่าง ๆ กันตั้งแต่หลายร้อยกิโลเมตรไปจนถึงเศษหินเล็ก ๆ เหมือนฝุ่น ดาวเคราะห์น้อยทั้งหมดนอกเหนือจากดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่สุด คือซีรีส จัดว่าเป็นวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ แต่ดาวเคราะห์น้อยบางดวงเช่น เวสต้า และ ไฮเจีย อาจจัดว่าเป็นดาวเคราะห์แคระได้ ถ้ามีหลักฐานว่ามันมีความสมดุลของความกดของน้ำมากเพียงพอ
       แถบดาวเคราะห์น้อยมีเทหวัตถุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 1 กิโลเมตรเป็นจำนวนหลายหมื่นดวง หรืออาจจะถึงล้านดวง ถึงกระนั้น มวลรวมทั้งหมดของแถบหลักก็ยังมีเพียงประมาณหนึ่งในพันของมวลโลกเท่านั้น แถบหลักมีประชากรอยู่อย่างค่อนข้างเบาบาง ยานอวกาศหลายลำได้เดินทางผ่านแถบนี้ไปได้โดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลย ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 10 ถึง 10-4 เมตร จะเรียกว่า สะเก็ดดาว
ซีรีส
ซีรีส (2.77 AU) เป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อย และได้รับการจัดประเภทให้เป็นดาวเคราะห์แคระ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเกือบ ๆ 1,000 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่พอจะสร้างแรงโน้มถ่วงของตัวเองเพื่อสร้างรูปทรงให้เป็นทรงกลมได้ ในตอนที่ค้นพบครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซีรีสถูกคิดว่าเป็นดาวเคราะห์ แต่ต่อมาถูกจัดประเภทใหม่ให้เป็นดาวเคราะห์น้อยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1850 เมื่อการสังเกตการณ์เพิ่มเติมพบดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ อีก ครั้นถึงปี ค.ศ. 2006 จึงได้รับการจัดประเภทใหม่ให้เป็นดาวเคราะห์แคระ
ตระกูลดาวเคราะห์น้อย
ดาวเคราะห์น้อยในแถบหลักจะแบ่งออกเป็นกลุ่มและตระกูลต่าง ๆ โดยพิจารณาจากคุณลักษณะการโคจรของพวกมัน ดวงจันทร์ดาวเคราะห์น้อย คือดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นที่ใหญ่กว่า มันไม่ได้ถูกจัดประเภทให้เป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ เพราะบางครั้งมันมีขนาดใหญ่เกือบเท่าดาวเคราะห์น้อยดวงแม่ของมันด้วยซ้ำ ในบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยยังมีดาวหางในแถบหลักซึ่งอาจเป็นต้นกำเนิดของน้ำมหาศาลบนโลกก็ได้
ดาวเคราะห์น้อยโทรจันตั้งอยู่ใกล้เคียงกับตำแหน่งลากรองจ์ L4 หรือ L5 ของดาวพฤหัสบดี (คือย่านที่แรงโน้มถ่วงค่อนข้างเสถียร ทำให้ดาวเคราะห์น้อยในบริเวณนี้สามารถอยู่ในวงโคจรได้) คำว่า "โทรจัน" หรือ "แห่งทรอย" นี้ยังใช้กับวัตถุขนาดเล็กในระบบดาวเคราะห์หรือระบบบริวารอื่นที่อยูในตำแหน่งลากรองจ์ด้วย ดาวเคราะห์น้อยตระกูลฮิลดาอยู่ที่ระยะการสั่นพ้อง 2:3 กับดาวพฤหัสบดี นั่นหมายถึง มันจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ 3 รอบ ต่อการโคจรของดาวพฤหัสบดี 2 รอบ
ระบบสุริยะชั้นในนี้ยังหมายรวมถึงวัตถุอื่น ๆ เช่น ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก ซึ่งดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มนี้จำนวนมากมีวงโคจรที่ตัดกับวงโคจรของดาวเคราะห์ชั้นในด้วย
ระบบสุริยะชั้นนอก


บริเวณรอบนอกของระบบสุริยะเป็นถิ่นที่อยู่ของดาวแก๊สยักษ์และบรรดาดาวบริวารของมันที่มีขนาดใหญ่พอจะเป็นดาวเคราะห์ได้ นอกจากนี้ยังมีดาวหางคาบสั้น และเซนทอร์ ที่โคจรอยู่ในย่านนี้เช่นกัน วัตถุตันที่อยู่ในย่านนี้จะมีองค์ประกอบของสสารที่ระเหยง่าย (เช่น น้ำ แอมโมเนีย มีเทน ในทางวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จะเรียกว่าเป็น น้ำแข็ง) ไม่ค่อยมีส่วนประกอบของสสารประเภทหินเหมือนอย่างเทหวัตถุในระบบสุริยะชั้นใน
ดาวเคราะห์ชั้นนอก
ดาวเคราะห์ชั้นนอก 4 ดวง หรือดาวแก๊สยักษ์ (บางครั้งเรียกว่า ดาวเคราะห์โจเวียน) มีมวลรวมกันถึงกว่า 99% ของมวลสารทั้งหมดที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์มีองค์ประกอบเต็มไปด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียม ดาวยูเรนัสกับดาวเนปจูนมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง นักดาราศาสตร์จำนวนหนึ่งเห็นว่าดาวสองดวงหลังนี้ควรจัดเป็นประเภทเฉพาะของมันเอง คือ "ดาวน้ำแข็งยักษ์ ดาวแก๊สยักษ์ทั้งสี่มีวงแหวนอยู่รอบตัว แม้เมื่อมองจากโลกจะเห็นได้ชัดแต่เพียงวงแหวนของดาวเสาร์เท่านั้น
ดาวพฤหัสบดี
ดาวพฤหัสบดี (5.2 AU) มีมวลประมาณ 318 เท่าของมวลโลก นับเป็นมวลมหาศาลถึง 2.5 เท่าของมวลรวมทั้งหมดของดาวเคราะห์ที่เหลือรวมกัน ประกอบด้วยก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมจำนวนมาก ความร้อนที่สูงมากภายในของดาวทำให้เกิดคุณลักษณะแบบกึ่งถาวรหลายประการในสภาพบรรยากาศของดาว เช่นแถบเมฆ และจุดแดงใหญ่ ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารที่รู้จักแล้วทั้งสิ้น 63 ดวง ดวงที่ใหญ่ที่สุด 4 ดวงคือ แกนิมีด คัลลิสโต ไอโอ และยูโรปา มีลักษณะคล้ายคลึงกับลักษณะของดาวเคราะห์ใกล้โลก เช่นมีภูเขาไฟ และมีกระบวนการความร้อนภายในของดาว ดวงจันทร์แกนิมีดเป็นดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธเสียอีก
ดาวเสาร์
ดาวเสาร์ (9.5 AU) เป็นดาวเคราะห์ที่โดดเด่นเนื่องจากระบบวงแหวนขนาดใหญ่ที่เห็นได้ชัด ลักษณะของดาวรวมถึงสภาพบรรยากาศคล้ายคลึงกับดาวพฤหัสบดี แต่มีมวลน้อยกว่ามาก โดยมีมวลโดยประมาณ 95 เท่าของมวลโลก ดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวารที่รู้จักแล้ว 60 ดวง (มีอีก 3 ดวงยังไม่ได้รับการรับรอง) ในจำนวนดวงจันทร์ทั้งหมดมีอยู่ 2 ดวงคือ ไททันและเอนเซลาดัส แสดงให้เห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา แม้ว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่จะเป็นน้ำแข็งก็ตาม ดวงจันทร์ไททันมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธ และเป็นดวงจันทร์บริวารเพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศ
ดาวยูเรนัส
ดาวยูเรนัส (19.6 AU) มีขนาดประมาณ 14 เท่าของมวลโลก เป็นดาวเคราะห์มวลน้อยที่สุดในระบบสุริยะชั้นนอก ลักษณะการโคจรของดาวยูเรนัสไม่เหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่น มันจะโคจรรอบดวงอาทิตย์แบบตะแคงข้าง โดยมีความเอียงของแกนมากกว่า 90 องศาเมื่อเทียบกับระนาบสุริยวิถี แกนกลางของดาวค่อนข้างเย็นกว่าดาวแก๊สยักษ์ดวงอื่น ๆ และแผ่ความร้อนออกมาสู่อวกาศภายนอกเพียงน้อยนิด ดาวยูเรนัสมีดวงจันทร์บริวารที่รู้จักแล้ว 27 ดวง กลุ่มของดวงจันทร์ขนาดใหญ่ได้แก่ ไททาเนีย โอบิรอน อัมเบรียล เอเรียล และมิรันดา
ดาวเนปจูน
ดาวเนปจูน (30 AU) แม้จะมีขนาดเล็กกว่าดาวยูเรนัส แต่มีมวลมากกว่า คือประมาณ 17 เท่าของมวลโลก ดังนั้นมันจึงเป็นดาวที่มีความหนาแน่นมาก ดาวเนปจูนแผ่รังสีความร้อนจากแกนกลางออกมามาก แต่ก็ยังน้อยกว่าดาวพฤหัสบดีหรือดาวเสาร์ เนปจูนมีดวงจันทร์บริวารที่รู้จักแล้ว 13 ดวง ดวงที่ใหญ่ที่สุดคือ ไทรทัน มีสภาพการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอยู่ เช่นมีน้ำพุร้อนไนโตรเจนเหลว และเป็นดาวบริวารขนาดใหญ่เพียงดวงเดียวที่มีวงโคจรย้อนถอยหลัง ดาวเนปจูนยังส่งดาวเคราะห์เล็ก ๆ จำนวนหนึ่งหรือเนปจูนโทรจัน เข้าไปในวงโคจรของดวงจันทร์ไทรทันด้วย โดยมีการสั่นพ้องของวงโคจรแบบ 1:1 กับดวงจันทร์
มีเทพประจำดาวคือ โพไซดอน (เทพแห่งท้องทะเล) มีสัญลักษณ์คือ
ดาวหาง
           ดาวหาง เป็นวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ โดยมากมีขนาดเพียงไม่กี่กิโลเมตรในแนวขวาง ประกอบด้วยสสารจำพวกน้ำแข็งระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ วงโคจรของดาวหางจะเบี้ยวมาก จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดมักเข้าไปถึงชั้นวงโคจรของดาวเคราะห์ชั้นใน ส่วนจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอาจออกไปไกลพ้นจากดาวพลูโต เมื่อดาวหางโคจรผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน ผลกระทบจากดวงอาทิตย์ทำให้พื้นผิวน้ำแข็งของมันระเหยและแตกตัวเป็นประจุ ทำให้เกิดเป็นโคมา คือหางขนาดยาวประกอบด้วยแก๊สและฝุ่นที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ดาวหางคาบสั้นมีวงโคจรประมาณไม่ถึง 200 ปี ส่วนดาวหางคาบยาวมีวงโคจรนานถึงหลายพันปี เชื่อว่าดาวหางคาบสั้นมีกำเนิดมาจากแถบไคเปอร์ ขณะที่ดาวหางคาบยาวเช่นดาวหางเฮล-บอปป์ น่าจะมีกำเนิดมาจากแถบเมฆออร์ต มีตระกูลของดาวหางอยู่หลายตระกูล เช่น ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ตระกูล Kreutz เกิดขึ้นจากการแตกตัวออกมาของดาวหางดวงแม่ ดาวหางบางดวงที่มีวงโคจรแบบไฮเพอร์โบลิกอาจจะมีกำเนิดมาจากห้วงอวกาศภายนอกของระบบสุริยะ แต่การคำนวณเส้นทางโคจรที่แน่นอนของพวกมันทำได้ยากมาก ดาวหางโบราณที่องค์ประกอบอันระเหยได้ได้ถูกขับออกไปจนหมดเนื่องจากความร้อนของดวงอาทิตย์ อาจกลายสภาพไปเป็นดาวเคราะห์น้อยได้

เซนทอร์

เซนทอร์ คือวัตถุน้ำแข็งคล้ายดาวหางที่มีค่ากึ่งแกนเอกมากกว่าดาวพฤหัสบดี (5.5 AU) แต่น้อยกว่าดาวเนปจูน (30 AU) เซนทอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จัก คือ10199 ชาริโคล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 250 กิโลเมตร เซนทอร์ชิ้นแรกที่ค้นพบคือ 2060 ไครอน ซึ่งเมื่อแรกถูกจัดประเภทว่าเป็นดาวหาง (95P) เพราะมันมีหางโคมาเหมือนกับที่ดาวหางเป็นเมื่อเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์บางกลุ่มจัดประเภทเซนทอร์ให้เป็นวัตถุในแถบไคเปอร์ที่กระจายตัวอยู่รอบใน โดยมีวัตถุแถบไคเปอร์อีกจำนวนหนึ่งกระจายตัวทางรอบนอกออกไปจนถึงแถบหินกระจาย
ยานพ้นดาวเนปจูน
ย่านอวกาศที่อยู่เลยดาวเนปจูนออกไป หรือ "ย่านพ้นดาวเนปจูน" ยังเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้รับการสำรวจมากนัก เท่าที่ทราบดูเหมือนจะเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยโลกเล็ก ๆ (วัตถุขนาดใหญ่ที่สุดในย่านนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางราวหนึ่งในห้าของโลก และมีมวลน้อยกว่ามวลของดวงจันทร์) ที่ประกอบขึ้นด้วยหินกับน้ำแข็ง บางครั้งก็เรียกย่านนี้ว่า "ย่านระบบสุริยะรอบนอก" ซึ่งจะคล้ายกับความหมายของวัตถุที่อยู่เลยจากแถบดาวเคราะห์น้อย
แถบไคเปอร์
แถบไคเปอร์ คือบริเวณของการก่อตัวครั้งแรกในระบบ มีลักษณะเป็นแถบวงแหวนมหึมาของเศษวัตถุกระจัดกระจายคล้ายกับแถบดาวเคราะห์น้อย แต่ส่วนมากวัตถุเหล่านั้นเป็นน้ำแข็ง ครอบคลุมพื้นที่ช่วงที่ห่างดวงอาทิตย์ออกมาตั้งแต่ 30-50 หน่วยดาราศาสตร์ สมาชิกในแถบไคเปอร์ส่วนมากเป็นวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ แต่ก็มีวัตถุขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งในแถบไคเปอร์ เช่น ควาอัวร์ วารูนา และ ออร์กัส ที่สามารถจัดประเภทเป็นดาวเคราะห์แคระ ประมาณว่า มีวัตถุในแถบไคเปอร์มากกว่า 100,000 ชิ้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 50 กิโลเมตร แต่มวลรวมของวัตถุในแถบไคเปอร์ทั้งหมดมีเพียงประมาณ 1 ใน 10 หรืออาจเพียง 1 ใน 100 เท่าของมวลโลกเท่านั้น วัตถุในแถบไคเปอร์จำนวนมากที่มีดาวบริวารของตัวเองหลายดวง และส่วนใหญ่จะมีวงโคจรที่อยู่นอกระนาบสุริยวิถี
วัตถุในแถบไคเปอร์สามารถแบ่งได้อย่างหยาบ ๆ เป็น 2 พวก คือ "แถบดั้งเดิม" และ "กลุ่มสั่นพ้อง" กลุ่มสั่นพ้องมีวงโคจรที่เชื่อมโยงกับดาวเนปจูน (เช่น 2 รอบต่อ 3 รอบโคจรของเนปจูน หรือ 1 รอบต่อ 2) โดยที่การสั่นพ้องของวงโคจรครั้งแรกเกิดขึ้นในวงโคจรของดาวเนปจูนเอง แถบดั้งเดิมประกอบด้วยวัตถุที่ไม่มีการสั่นพ้องของวงโคจรกับดาวเนปจูน มีย่านโคจรอยู่ระหว่าง 39.4 - 47.7 หน่วยดาราศาสตร์. การจัดประเภทสมาชิกแถบไคเปอร์ดั้งเดิมว่าเป็นพวกคิวบิวาโน เกิดขึ้นหลังจากมีการพ้นพบสมาชิกดวงแรกในกลุ่มนี้ คือ 15760 1992 QB1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 199
  
พลูโตกับคารอน
ดาวพลูโต (39 AU โดยเฉลี่ย) เป็นดาวเคราะห์แคระ และเป็นวัตถุในแถบไคเปอร์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นที่รู้จัก เมื่อแรกที่ค้นพบดาวพลูโตในปี ค.ศ. 1930 มันถูกจัดว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงที่เก้า แต่ในปี ค.ศ. 2006 มีการจัดประเภทใหม่หลังจากที่มีการกำหนดคำจำกัดความของ "ดาวเคราะห์" อย่างเป็นทางการ ดาวพลูโตมีความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจรประมาณ 17 องศาเทียบกับระนาบสุริยวิถี มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 29.7 AU (ในระดับวงโคจรของดาวเนปจูน) และมีจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 49.5 AU
คารอน เป็นดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ที่สุดของดาวพลูโต แต่ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่ามันจะยังสามารถจัดประเภทเป็นดาวเคราะห์แคระได้หรือไม่ ทั้งพลูโตและคารอนมีจุดศูนย์รวมแรงโน้มถ่วงในการโคจรอยู่ระหว่างกันและกัน ทำให้ดูเหมือนว่า พลูโตกับคารอนเป็นระบบดาวคู่ ยังมีดวงจันทร์ขนาดย่อมกว่าอีก 2 ดวงคือ นิกซ์ และ ไฮดราโคจรรอบพลูโตกับคารอน
วงโคจรของดาวพลูโตอยู่ในแถบการสั่นพ้อง มีค่าสั่นพ้องวงโคจรกับดาวเนปจูนที่ 3:2 หมายความว่า พลูโตโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2 รอบต่อการโคจรของดาวเนปจูน 3 รอบ วัตถุในแถบไคเปอร์ที่ร่วมอยู่ในวงโคจรการสั่นพ้องจะเรียกว่าเป็นพวก พลูติโน
เฮาเมอากับมาคีมาคี
เฮาเมอา (43.34 AU โดยเฉลี่ย) และมาคีมาคี (45.79 AU โดยเฉลี่ย) เป็นวัตถุดั้งเดิมในแถบไคเปอร์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นที่รู้จัก เฮาเมอามีรูปสัณฐานเหมือนไข่ มีดวงจันทร์บริวาร 2 ดวง มาคีมาคีเป็นวัตถุสว่างที่สุดในแถบไคเปอร์รองจากดาวพลูโต แต่เดิมดาวทั้งสองมีชื่อรหัสว่า 2003 EL61 และ 2005 FY9 ตามลำดับ ต่อมาจึงมีการตั้งชื่อดาว (พร้อมทั้งยกสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระ) ในปี ค.ศ. 2008 วงโคจรของดาวทั้งสองยิ่งมีความเยื้องมากกว่าดาวพลูโตเสียอีก (ที่ 28° และ 29°)  แต่ดาวทั้งสองนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากวงโคจรของดาวเนปจูน เพราะอยู่ในย่านที่เป็นสมาชิกดั้งเดิมของแถบไคเปอร์

แถบหินกระจาย


แผนภาพแสดงความเยื้องศูนย์กลางและความเอียงของระนาบโคจร เส้นสีดำคือแถบหินกระจาย สีน้ำเงินคือแถบไคเปอร์ดั้งเดิม และสีเขียวคือย่านการสั่นพ้องของวงโคจร
แถบหินกระจาย
แถบหินกระจายมีย่านคาบเกี่ยวกันกับแถบไคเปอร์ แต่แผ่ตัวออกไปทางด้านนอกของระบบเป็นบริเวณกว้าง เชื่อว่าในแถบหินกระจายนี้เป็นต้นกำเนิดของบรรดาดาวหางคาบสั้น วัตถุในแถบหินกระจายถูกแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวเนปจูนในยุคต้น ๆ ผลักไปมาจนทำให้มีวงโคจรที่ไม่แน่นอน โดยมากจะมีจุดโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ในย่านของแถบไคเปอร์ ส่วนจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอาจอยู่ห่างออกไปถึง 150 หน่วยดาราศาสตร์ วงโคจรของวัตถุในแถบหินกระจายยังมีความเอียงระนาบสูงมากเมื่อเทียบกับระนาบสุริยวิถี บางครั้งถึงกับตั้งฉากกับระนาบนี้เลยก็เป็นได้ นักดาราศาสตร์บางกลุ่มจัดให้แถบหินกระจายเป็นอีกย่านหนึ่งของแถบไคเปอร์ และเรียกวัตถุในแถบหินกระจายว่า "วัตถุกระจายในแถบไคเปอร์"
อีรีส
อีรีส (68 AU โดยเฉลี่ย) เป็นวัตถุในแถบหินกระจายขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จัก เป็นต้นเหตุของการถกเถียงกันเรื่องคุณสมบัติของการเป็นดาวเคราะห์ เพราะมันมีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโตอย่างน้อย 5% โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,400 กิโลเมตร (1,500 ไมล์) ถือเป็นดาวเคราะห์แคระขนาดใหญ่ที่สุดที่เป็นที่รู้จัก อีรีสมี ลักษณะวงโคจรมีค่าความเยื้องศูนย์กลางค่อนข้างสูงเหมือนกับดาวพลูโต จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ที่ประมาณ 38.2 AU (ประมาณระยะวงโคจรของดาวพลูโต) ส่วนจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ประมาณ 97.6 AU มีความเอียงกับระนาบสุริยวิถีสูงมาก
ย่านไกลที่สุดของระบบ
เราไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่า ระบบสุริยะสิ้นสุดที่จุดไหน หรืออวกาศระหว่างดาวเริ่มต้นขึ้นที่จุดไหน เพราะขอบเขตรอบนอกของระบบเป็นไปด้วยอิทธิพลของแรง 2 ชนิดที่แตกต่างกัน คือ ลมสุริยะ และแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ อิทธิพลด้านนอกสุดของลมสุริยะกินเนื้อที่ออกไปประมาณ 4 เท่าของระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพลูโต เรียกว่าขอบเขตเฮลิโอพอส ซึ่งอาจนับเป็นจุดเริ่มต้นของสสารระหว่างดาวก็ได้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าทรงกลมรอชของดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นเนื้อที่ภายใต้อิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ กินพื้นที่ไกลออกไปมากกว่านั้นถึงกว่าหนึ่งพันเท่า

เฮลิโอพอส


บริเวณของเฮลิโอสเฟียร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ย่าน ลมสุริยะเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วประมาณ 40,000 กิโลเมตร/วินาที จนกระทั่งมันสลายตัวลงด้วยกระแสของพลาสมาในสสารระหว่างดาว การสลายตัวนี้เกิดขึ้นที่กำแพงกระแทกซึ่งอยู่ที่ระยะประมาณ 80-100 AU จากดวงอาทิตย์ในทิศทางย้อนกระแสลม และประมาณ 200 AU จากดวงอาทิตย์ในทิศทางตามกระแสลม ที่บริเวณนี้กระแสของลมจะอ่อนลง มวลสารเกาะกลุ่มหนาแน่นขึ้นแล้วกลายเป็นลมหมุน ทำให้เกิดโครงสร้างรูปไข่ขนาดใหญ่เรียกว่า เฮลิโอชีท (heliosheath) หรือ ฝักสุริยะ ซึ่งมีหน้าตาและพฤติกรรมคล้ายคลึงกับหางของดาวหาง คือทอดแผ่ตัวออกไปไกลถึง 40 AU ทางฝั่งทวนกระแสลม ถ้าเป็นด้านตามกระแสลมจะยิ่งแผ่ออกไปไกลกว่านั้น ทั้งยานวอยเอจเจอร์ 1 และ วอยเอจเจอร์ 2 ต่างรายงานกลับมาว่าได้ผ่านบริเวณกำแพงกระแทกไปแล้วและได้เข้าสู่บริเวณเฮลิโอชีท ที่ระยะประมาณ 94 และ 84 AU ตามลำดับ ขอบด้านนอกสุดของทรงกลมเฮลิโอสเฟียร์ หรือ เฮลิโอพอส เป็นจุดที่กระแสของลมสุริยะสิ้นกำลังลง และเป็นจุดเริ่มต้นย่านอวกาศระหว่างดาว
ลักษณะรูปร่างและทรงของขอบนอกของเฮลิโอสเฟียร์เป็นผลจากการถูกกระทบด้วยปฏิกิริยาพลศาสตร์ของไหลจากสสารระหว่างดาว และจากสนามแม่เหล็กสุริยะที่มีอยู่อย่างมากในทางตอนใต้ ทางซีกด้านบนจะเป็นทรงมนมีความกว้างประมาณ 9 AU (ราว 900 ล้านไมล์) ซึ่งกว้างกว่าครึ่งซีกล่าง พ้นจากเขตแดนเฮลิโอพอส ที่ระยะประมาณ 230 AU เป็นตำแหน่งโบว์ชอค ซึ่งพลาสมาจากดวงอาทิตย์จะละทิ้งระบบและเดินทางไปในดินแดนอื่นในทางช้างเผือก
ยังไม่เคยมียานอวกาศลำใดเดินทางพ้นออกไปจากเฮลิโอพอสเลย จึงไม่อาจรู้ได้แน่ชัดถึงสภาวะเงื่อนไขในอวกาศระหว่างดาว คาดว่ายานอวกาศวอยเอจเจอร์ขององค์การนาซจะเดินทางออกจากเฮลิโอพอสในราวหนึ่งทศวรรษข้างหน้า และจะส่งข้อมูลอันมีค่าเกี่ยวกับระดับของรังสีและลมสุริยะกลับมายังโลก เพราะความเข้าใจเกี่ยวกับการที่เกราะเฮลิโอสเฟียร์ช่วยปกป้องระบบสุริยะเอาไว้จากรังสีคอสมิกยังมีอยู่น้อยมาก ทีมงานหนึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากนาซาได้พัฒนาแนวคิดโครงการ "Vision Mission" ขึ้น มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการส่งยานอวกาศไปในเฮลิโอสเฟียร์

เมฆออร์ต

เมฆออร์ต เป็นข้อสมมุติฐานถึงกลุ่มมวลขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยวัตถุน้ำแข็งนับล้านล้านชิ้นที่เชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางคาบยาว และครอบคลุมบริเวณรอบนอกของระบบสุริยะเอาไว้ในระยะทางประมาณ 50,000 AU (ประมาณ 1 ปีแสง) หรืออาจกว้างได้ถึง 100,000 AU (1.87 ปีแสง) เชื่อว่าองค์ประกอบของมันคือดาวหางที่ถูกดีดออกมาจากระบบสุริยะชั้นในด้วยปฏิกิริยาแรงโน้มถ่วงกับดาวเคราะห์ชั้นนอก วัตถุในเมฆออร์ตมีการเคลื่อนที่ต่ำมาก และอาจถูกกระทบกระทั่งเส้นทางด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เช่นการปะทะ แรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวที่เคลื่อนผ่าน หรือแรงดึงดูดระหว่างดาราจักร เช่นแรงไทดัลของทางช้างเผือก

เซดนา

90377 เซดนา (525.86 AU โดยเฉลี่ย) เป็นวัตถุขนาดใหญ่คล้ายดาวพลูโต มีสีแดง และมีวงโคจรวงรีขนาดใหญ่มากที่มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 76 AU ส่วนจุดไกลที่สุดอยู่ที่ 928 AU ใช้เวลาในการโคจรรอบละ 12,050 ปี ไมเคิล อี. บราวน์ เป็นผู้ค้นพบดาวนี้เมื่อปี ค.ศ. 2003 เขาคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นสมาชิกทั้งของแถบหินกระจายหรือแถบไคเปอร์ เพราะจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดยังอยู่ห่างเกินกว่าจะเป็นวัตถุที่ถูกดีดออกมาด้วยแรงโน้มถ่วงของดาวเนปจูน เขากับนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ เห็นว่ามันน่าจะเป็นวัตถุชิ้นแรกในกลุ่มประชากรใหม่ของระบบ ซึ่งน่าจะรวมถึง 2000 CR105 ซึ่งมีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 45 AU และจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 415 AU มีรอบการโคจร 3,420 ปี บราวน์เรียกประชากรใหม่ของระบบเหล่านี้ว่า "เมฆออร์ตกลุ่มใน" เพราะมันอาจมีลักษณะเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าก็ตาม[91] มีความเป็นไปได้ที่เซดนาจะเป็นดาวเคราะห์แคระ แม้จะยังต้องพิสูจน์ถึงสัณฐานของมันเสียก่อน

ขอบนอก

ยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายในระบบสุริยะที่เรายังไม่รู้จัก ประมาณว่า สนามแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์มีอิทธิพลครอบคลุมดาวฤกษ์ต่าง ๆ ในย่านใกล้เคียงเป็นระยะทางราว 2 ปีแสง (125,000 AU) รัศมีต่ำสุดของเมฆออร์ตที่ประมาณกันไว้น่าจะไม่ต่ำกว่า 50,000 AU แม้จะมีการค้นพบที่น่าประหลาดใจเช่นการค้นพบเซดนา แต่ย่านอวกาศระหว่างแถบไคเปอร์กับเมฆออร์ตซึ่งกินเนื้อที่กว้างในรัศมีหลายหมื่นหน่วยดาราศาสตร์ก็ยังไม่สามารถสำรวจและจัดทำแผนผังออกมาได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสำรวจเพิ่มเติมสำหรับดินแดนระหว่างดาวพุธกับดวงอาทิตย์ เราอาจจะได้ค้นพบวัตถุต่าง ๆ อีกมากในย่านต่าง ๆ ของระบบสุริยะที่ยังไม่ได้จัดทำแผนผังเอาไว้
บริบทเชิงดาราจักร
ระบบสุริยะตั้งอยู่ในดาราจักรทางช้างเผือก ซึ่งเป็นดาราจักรชนิดก้นหอยมีคาน มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100,000 ปีแสง มีดาวฤกษ์สมาชิกประมาณ 200,000 ล้านดวง[94] ดวงอาทิตย์ของเราเป็นดาวฤกษ์สมาชิกดวงหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางแขนก้นหอยด้านนอกของทางช้างเผือก ในส่วนที่เรียกกันว่า แขนโอไรออน หรือสเปอร์ท้องถิ่น ห่างจากบริเวณศูนย์กลางของดาราจักรประมาณ 25,000 ถึง 28,000 ปีแสง ความเร็วที่เคลื่อนที่ภายในดาราจักรอยู่ที่ประมาณ 220 กิโลเมตรต่อวินาที ดังนั้นมันจะเคลื่อนที่วนครบหนึ่งรอบในเวลา 225-250 ล้านปี การวนครบรอบนี้เรียกกันว่าเป็น ปีดาราจักร ของระบบสุริยะ
ตำแหน่งของระบบสุริยะในดาราจักรน่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก เพราะวงโคจรของมันจะค่อนข้างเป็นวงกลม และมีระดับความเร็วพอกันกับแขนก้นหอยของดาราจักร ซึ่งแสดงว่ามันไม่ได้เคลื่อนผ่านไปในดาราจักรมากนัก แขนก้นหอยนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของเทหวัตถุที่กว่าจะกลายเป็นซูเปอร์โนวาก็ต้องใช้เวลาอีกนาน ทำให้โลกมีเวลาอันยาวนานที่จะสร้างสภาวะเสถียรภาพมากพอสำหรับการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ระบบสุริยะยังตั้งอยู่นอกเขตแดนอันหนาแน่นของดาวฤกษ์ในใจกลางดาราจักร ที่บริเวณใจกลางนั้นจะมีแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวฤกษ์ใกล้เคียงสูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวัตถุในเขตเมฆออร์ต อันจะทำให้เกิดดาวหางมากมายพุ่งเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นในได้ ทำให้เกิดการปะทะที่อาจสร้างสภาวะอันไม่เหมาะสมต่อชีวิต ปริมาณรังสีเข้มข้นที่ใจกลางดาราจักรก็อาจส่งผลรบกวนต่อวิวัฒนาการของชีวิตอันซับซ้อนด้วย ถึงกระนั้นในตำแหน่งของระบบสุริยะปัจจุบัน ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนตั้งทฤษฎีว่าเคยเกิดซูเปอร์โนวามาก่อน และส่งผลกระทบในทางกลับกันกับข้อสมมุติฐานก่อนหน้านั้น คือในช่วง 35,000 ปีสุดท้ายมานี้แรงระเบิดจากซูเปอร์โนวาได้แพร่กระจายสสารในแกนกลางของมันออกมายังดวงอาทิตย์ในรูปของฝุ่นกัมมันตรังสี รวมถึงชิ้นส่วนขนาดใหญ่ที่คล้ายดาวหาง[
ย่านใกล้เคียง
ย่านใกล้เคียงในดาราจักรที่อยู่ติดกันกับดาราจักรของเรา มีชื่อเรียกว่า เมฆระหว่างดาวท้องถิ่น (Local Intersteller Cloud) หรือ ฟลัฟฟ์ท้องถิ่น (Local Fluff) เป็นบริเวณที่มีเมฆหนาแน่นซึ่งตั้งอยู่ใน ฟองท้องถิ่น อันเป็นห้วงอวกาศที่ค่อนข้างโปร่งรูปร่างคล้ายนาฬิกาทรายอยู่ในสสารระหว่างดาว กินเนื้อที่กว้างประมาณ 300 ปีแสง ในฟองท้องถิ่นนี้เต็มไปด้วยพลาสมาอุณหภูมิสูงซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนที่หลงเหลืออยู่จากซูเปอร์โนวาครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น
ทิศทางที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนไปในอวกาศระหว่างดาวเรียกว่า โซลาร์เอเพกซ์ (solar apex) อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีสในทิศทางเดียวกับตำแหน่งปัจจุบันของดาวเวกา
มีดาวฤกษ์อยู่ค่อนข้างน้อยในช่วงระยะ 10 ปีแสง (ประมาณ 95 ล้านล้านกิโลเมตร) จากดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ที่สุดคือระบบดาวสามดวง อัลฟาคนครึ่งม้า ซึ่งอยู่ห่างออกไป 4.4 ปีแสง อัลฟาคนครึ่งม้า เอ และ บี เป็นดาวคู่ที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ มีดาวแคระแดงขนาดเล็กชื่อ อัลฟาคนครึ่งม้า ซี (หรือดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้า) โคจรรอบดาวคู่ทั้งสองนั้นที่ระยะห่าง 0.2 ปีแสง ดาวฤกษ์อื่นที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ในลำดับถัดออกไปได้แก่ดาวแคระแดงบาร์นาร์ด (5.9 ปีแสง) ดาววูลฟ์  (7.8 ปีแสง) และ ดาวลาลังเดอ  (8.3 ปีแสง) ดาวฤกษ์ดวงใหญ่ที่สุดในระยะ 10 ปีแสงจากดวงอาทิตย์ได้แก่ ดาวซิริอุส เป็นดาวฤกษ์สว่างบนแถบลำดับหลักที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ราว 2 เท่า มีดาวแคระขาวชื่อ ซิริอุส บี โคจรอยู่รอบ ๆ ห่างจากดวงอาทิตย์ของเราไป 8.6 ปีแสง ระบบอื่น ๆ ที่มีอยู่ในระยะ 10 ปีแสงได้แก่ ระบบดาวแคระแดงคู่ ลูยเทน  (8.7 ปีแสง) ดาวแคระแดงเดี่ยว รอส  (9.7 ปีแสง)  สำหรับดาวฤกษ์เดี่ยวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ เทาวาฬ อยู่ห่างออกไป 11.9 ปีแสง มันมีมวลประมาณ 80% ของมวลดวงอาทิตย์ แต่มีความส่องสว่างเพียง 60% ของดวงอาทิตย์เท่านั้น ดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ใกล้ที่สุดเท่าที่รู้จัก เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในระบบดาวของ เอปไซลอนแม่น้ำ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่ค่อนข้างหรี่จางและมีสีแดงกว่าดวงอาทิตย์ อยู่ห่างออกไป 10.5 ปีแสง มีดาวเคราะห์ในระบบที่ได้รับการยืนยันแล้ว 1 ดวง คือ เอปไซลอนแม่น้ำ บี มีขนาดราว 1.5 เท่าของมวลของดาวพฤหัสบดี คาบโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ของมันใช้เวลา 6.9 ปี











1 ความคิดเห็น:

  1. ด.ญ. ชุติมณฑน์ พัฒนพิลาศ เลขที่ 24 ม.3/4
    ด.ญ. ปาริมา มีใหญ่ เลขที่31 ม.3/4
    ด.ญ. พิยดา เพชรประสิทธิ์ เลขที่ 32 ม.3/4

    ตอบลบ